Article 9
Avoid Common Mistakes!
เลี่ยงข้อผิดพลาดเพิ่มคะแนน IELTS Writing ให้สูงปรี๊ด
เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยได้ยินมีสุภาษิตโบราณว่า “คนล้มอย่าข้าม” หมายความว่า อย่าซ้ำเติมใครเขา แต่ในตอนนี้ อยากให้ลืมสุภาษิตโบราณนั้นไปเสีย เพราะสุภาษิตของโรงเรียน ENG ME UP เราคือ “คนล้มรีบเลี่ยง” คือไม่ข้าม ไม่ซ้ำเติม แต่ไม่ช่วย! 555
ดูใจด๊ำใจดำ แต่ในสมรภูมิการสอบนั้นไซร้จงท่องไว้ว่า “ อัตตาหิอัตโนนาโถ” — ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ดังนั้นหากใครล้มหรือสะดุดหลุมบ่อพรางทางข้อสอบใดๆ แล้ว เราจะล้มตามเขาไม่ได้ค่ะ เพราะล้มในที่นี้หมายถึงจุดที่ผิดอันจะฉุดคะแนนของเราค่ะ และเป็นเรื่องที่ไม่มีที่ไหนเปิดเผยมาก่อนด้วย (ยกเว้นที่นี่ :D) ดังนั้น มาดูกันว่าเราจะหลีกเลี่ยงหลุมพวกนี้อย่างไร
Transition Signals
หลุมแรกที่ต้องพูดคือ Transition Signals คำหรือกลุ่มวลีที่ทำหน้าที่เหมือนสัญญาณเพื่อบ่งชี้เนื้อความในส่วนถัดไป เอ…หน้าตามันเป็นไง มีไฟเขียวไฟแดงหรือเปล่า 555
ไม่มีนะคะ หน้าตาของมันก็เป็นคำธรรมดาๆ นี่ละ แต่หน้าที่สำคัญคือทำให้ essay ของเรามีลำดับที่ชัดเจน ทำให้ผู้อ่านรู้ว่าเราได้วางโครงเรื่องไว้อย่างไร และต่อไปจะพูดถึงอะไร หากเปรียบเทียบ Transition Signals แล้ว ก็คงเปรียบได้ดั่งสะพานนั่นเองค่ะ ที่จะทอดไปสู่เนื้อหาสำคัญในลำดับถัดไปนั่นเอง และก็ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่เราจำเป็นต้องใส่ค่ะ เพราะจะช่วยเพิ่มคะแนนให้เราในส่วนของ Coherence and Cohesion นั่นเองค่ะ
ยกตัวอย่างเช่นการพูดถึง paragraph แรกนะคะ เราอาจจะเริ่มด้วยสัญญาณไฟเหล่านี้ก็ได้ ลองหยิบมาสักตัวมาใช้ค่ะ
- First
- first of all
- Firstly
- Initially
- To begin with
- To start with
ทุกคำจะเป็นการชี้ให้เห็นว่า…นี่จะเริ่ม paragraph แรกแล้วนะจ๊ะ
และถ้าสมมติว่าเราจะเริ่มต้นพารากราฟท้ายสุดอย่าง Conclusion ก็สามารถเริ่มต้นด้วยคำเหล่านี้ได้ทันทีค่ะ
- In conclusion
- in summary
- to conclude
- to sum up
สำหรับวันนี้ เราก็มี Transition Signals มาให้โหลดกันด้วยค่ะ มารับกันไปได้เลยนะคะ
หลุมที่สองที่ต้องพูดถึง คือเรื่องของ ไอเดียไม่ชัดเจน (Overgeneralization) เนื่องจากหลายครั้งคนจะคิดว่าเขียนตอบไปเลยก็ได้เป็น Topic Sentence นั่นละ เขียนเป็นประโยคแรกของ paragraph ยังไงกรรมการก็อ่านรู้เรื่องอยู่แล้ว
แต่จริงๆ แล้วในประโยค Topic Sentence ค่อนข้างสำคัญค่ะ เพราะต้องมีการเน้นย้ำด้วยว่า เรา “เห็นด้วย” กับไอเดียนี้ พูดแบบนี้อาจจะยังงงๆ มาลองดูตัวอย่างกันเลยดีกว่าค่ะ
The university admission should be based on talent and merit.
ฟังดูแล้วเป็นประโยคธรรมดาๆ พูดถึงเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเนี่ย ควรดูที่พรสวรรค์ด้วยนะแต่เราจะไม่รู้ค่ะว่าความคิดเห็นนี้ดีหรือไม่ดี ถ้าเขียนไปทั้งประโยคแบบนี้เฉยๆ กรรมการอาจจะไม่ทราบว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อความดังกล่าว
ดังนั้น เราจึงควรมีการเน้นย้ำว่าใครคิดเห็นอย่างไรค่ะ สมมติถ้าเราไม่เห็นด้วย เราอาจจะโบ้ยให้เป็นความคิดเห็นคนอื่น แล้วค่อยตบด้วย Connectors ที่แสดงความขัดแย้ง (Although, but, however หรือ In contrast เป็นต้นค่ะ) เพื่อแสดงว่าเราคิดเห็นอีกอย่าง เช่น
Many people might say that the university admission should be based on talent and merit. However, I personally think that general academic examination and interview should be the major factors to be considered in the application for undergraduate level.
จะเห็นได้ว่าเป็นการขยายเพื่อบอกว่าจริงๆ ความคิดที่กล่าวมาว่า The university admission should be based on talent and merit. เป็นความคิดของคนอื่นนะ ส่วนตัวฉันเองเนี่ยคิดอีกอย่าง หรือถ้าเราเห็นด้วยกับประโยคแรกด้านบนสุด เราอาจใช้คำนี้ก็ได้ค่ะ
It is impossible to argue against the fact that the university admission should be based on talent and merit.
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเถียงข้อเท็จจริงที่ว่า….
สังเกตคำข้างบนนะคะ ย้ำไอเดียแบบย้ำแล้วย้ำอีกว่ามันสำคัญ ย้ำแบบเล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์มาก ซึ่งคำเน้นย้ำความคิดเห็น นอกจากจะทำให้ไอเดียของเราชัดเจนขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มจำนวนคำให้ถึงฝั่งฝัน 250 คำด้วยค่ะ (ลองนับดูสิ It is impossible to argue against the fact that ก็ปาเข้าไป 9 คำแล้ว แหม ไม่ค่อยโกง แต่จริงๆ เป็นสิ่งที่กรรมการเขาชอบนะ ดังนั้นเราต้องเอาใจเขาหน่อย)
หลุมที่สาม คือ การขยายใน Body Paragraph เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขียนถึงจำนวนคำที่กำหนด ต้องระลึกเสมอว่าเขียน Topic Sentence แล้วต้องมี Explanation หรือประโยคอธิบายเหตุผลต่อ และตามด้วย Example เสมอ ซึ่งการใส่ตัวอย่างควรเขียนให้เป็นนามธรรม ยกตัวอย่างแค่เรื่องสองเรื่อง แต่ห้ามเยอะแยะไปหมด ไม่อย่างนั้นจะเป็นการออกทะเลได้ ระลึกไว้เสมอว่าขยายที่มีอยู่แล้วให้ดีที่สุด
มาลองดูส่วนหนึ่งจาก body paragraph กันค่ะ ให้เวลาอ่านสักสามนาที อย่า skip ล่ะ 😀
ทีนี้เราลองคิดหาจุดผิด และพิจารณาดูค่ะ จะเห็นว่าเขาพูดถึงเรื่องของทางแก้ปัญหาสุขภาพการกินที่ไม่ดี แล้วก็ตามมาด้วยคนกินฟาสต์ฟู้ด แล้วก็ตามมาด้วยเบอร์เกอร์และพิซซ่า ยัง ยังไม่พอ ยังพูดถึงน้ำมันที่ใช้ในการทอดเฟรนช์ฟรายด์ว่ามันดำเหลือเกิน แล้วพี่แกก็ย้อนกลับมาว่ากินฟาสต์ฟู้ดมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพนะ (เดี๋ยวค่ะพี่ เมื่อกี๊พี่พูดไปแล้วใน Topic Sentence ค่า) ก่อนจะเล่าไปถึงการกินเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก มันฝรั่ง ลูกกวาดลูกอม ช็อกโกแลต สุดท้ายกินเข้าไปมากๆ ก็จะอ้วนและเป็นเบาหวานนะตัวเอง
กว่าจะจบ…เอิ่มพี่คะ! ณ จุดนี้ต้องถามพี่คนเขียนเลยว่า…นี่เรียงความหรือเชลล์ชวนชิมคะ
จะเห็นได้ว่าเขาขยายตัวอย่างเยอะไปมากๆ ค่ะ เยอะจนไม่รู้ว่าโฟกัสกับจุดไหน ไม่มีการอธิบาย Topic Sentence ที่ชัดเจน แบบนี้เราเรียกได้ว่าออกทะเลไปไกลทีเดียว อีกนิดนึงจะถึงมัลดีฟส์แล้วค่ะ
ดังนั้นนะคะ อย่าลืมโครงสร้างของเราที่ว่า
Topic Sentence > Explanation > Example > (Result)
ซึ่งตัวอย่างที่ดีงามนั้น เราสามารถย้อนกลับไปดูได้จาก Essay เรื่อง Many students decide to further their study abroad what are the benefits and drawbacks of studying abroad. To what extent do you agree or disagree with this statement? ที่อาจารย์นำมาประกอบการสอนโครงสร้างได้ในตอนแรกเลยค่ะ
และหลังจากที่ได้เรียนรู้โครงสร้างและจุดผิดพลาดแล้ว ทางโรงเรียนก็ได้มีวิดีโอว่าด้วยเทคนิคดีๆในการเขียน Argumentative Essay หรือเรียงความแสดงการโต้แย้งซึ่งเป็นประเภทที่ข้อสอบ IELTS ชอบนำมาออกด้วยค่ะ รับรองว่าหากลองทำตามโครงสร้างและเขียนตามขั้นตอนที่ได้ระบุในคลิปข้างล่างแล้ว คะแนน 6.5+ ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนค่ะ