Article 8
จบเรื่องของคำศัพท์ มาสู่เรื่องของแกรมม่าร์ อันเป็นหนึ่งใน Indicators หรือตัวชี้วัดคะแนนของเรา บางคนคิดว่าแค่ใส่ s ไม่ใส่ s นั้นไม่เป็นไร หรือลืมใส่ a หน้าคำนามที่เป็นเอกพจน์ โอย กะแค่ตัวอักษรตัวเดียว จะคิดอะไรมากมาย
แต่…กรรมการไม่คิดแบบที่เราคิดสิคะ จับอะไรได้ก็จะเอามาหักคะแนนหมด (แนะนำให้กลับไปร้องเพลง เจ็บแค้นเคืองโกรธโทษฉันไยอีกรอบ กรรมการทำไมทำแบบนี้) แต่เขาก็มีเหตุผลของเขานะคะ เนื่องจากแกรมม่าร์ในการเขียนเนี่ย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราเรียนมาตั้งแต่ประถมค่ะ แล้วด้วยความที่มันเป็นเรื่องง่ายๆ เรื่องพื้นฐาน ดังนั้นถ้าเราใช้ผิด จะหมายความว่าความรู้พื้นฐานไม่แม่นนั่นเอง
ดังนั้น ในเมื่อมันเป็นเรื่องที่สำคัญระดับชาติ สำคัญเท่ากับข่าวการส่งจรวดไปสำรวจดาวพลูโต ดังนั้นเราก็ต้องกลับมาย้ำอีกสักครั้ง โดยในการเขียน IELTS Task 2 นั้น มีเรื่องทางไวยากรณ์ที่ต้องเน้นดังต่อไปนี้ค่ะ
ก็คือหน้าที่ของคำนั่นเอง คำนามเอย คำกริยาเอย ที่ท่องกันมาตั้งแต่เด็กนั่นละ แต่พอมาใช้จริง อ้าววว ทำไมประโยคนี้มีแต่คำนามละ เย้ยย แล้วทำไมประโยคนี้ไม่มีคำกริยาเลย ณ จุดๆ นี้อาจจะขำ คิดในใจว่าแล้วใครมันจะไปใช้ผิด
แต่…อย่าว่าไปค่ะ ด้วยความรีบและเวลาที่จำกัด ทำให้ทุกคนหน้ามืดและต้องเขียนประโยคที่มีจุดผิดพลาด ดังนั้นเราต้องระวังให้ดีนะคะ ใช้หน้าที่ของคำให้ถูกต้องค่ะ พยายามทำให้แม่นว่าคำแบบไหน อยู่ตรงไหนได้บ้าง และทำหน้าที่อะไร
ยกตัวอย่างเช่น Noun ทำหน้าที่เป็น Subject และ Object ตำแหน่งของมันอยู่ที่หลัง Article, หลัง Preposition และหลังคำแสดงความเป็นเจ้าของอย่าง My, your, his, her แบบนี้เป็นต้น
และเรื่องของโครงสร้าง อยากให้จำแม่นๆ ไว้เลยว่า 1 ประโยคต้องมี V. แท้หนึ่งตัว แต่ถ้าอยากมีมากกว่า 1 ตัว ก็ต้องใส่ Connector หรือคำเชื่อมประโยคค่ะ เข้าใจตรงกันและพยายามเขียนให้ถูกต้องตามแกรมม่าร์นะจ๊ะ
ต่อมาคือการใช้กริยาให้มีพจน์ตรงกับประธาน ฟังดูเข้าใจยากจัง เอาง่ายๆ ค่ะ ประธานเอกเอกพจน์ เป็นคนเดียว ก็ต้องใช้กริยาเป็นเอกพจน์เช่นกัน อย่างเช่น Mary lives in England. จะเห็นได้ว่า live มีการผันพจน์เป็นเอกพจน์ตามประธานด้วยการเติม -s ค่ะ และถ้าประธานเป็นพหูพจน์ ก็ต้องใช้กริยาเป็นพหูพจน์เช่นกัน
สิ่งสำคัญคือเวลาเขียน Essay ให้เรามีสติเสมอค่ะ Focus กับประธานดีๆ ว่าเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ แล้วก็ใช้กริยาตามให้ถูกต้องนะคะ ซึ่งจริงๆ กฎยิบย่อยก็มีเยอะแยะค่ะ ดังนั้นพยายามดูแต่ละกฎและข้อยกเว้นไว้ด้วยนะคะ เขียนไป คิดไป โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองเขียนไปเสมอค่ะ
Tense ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญเช่นเดียวกันนะคะ เราเรียนเรื่อง Tense กันมาตั้งแต่เด็ก ท่องโครงสร้างแต่ละ tense ได้เร็วปร๋อยิ่งกว่าสูตรคูณแม่สอง แต่ทำไม้ทำไม มาเขียนจริงแล้วก็ยังผิดอยู่ดี แต่อย่างที่เห็นแล้วว่าบล็อกของเราไม่ธรรมดา มีทั้งแจก มีทั้งชีต และมีทั้งคลิป พี่นี้มีแต่ให้จริงๆ
ดังนั้น ในเมื่อ Tenses เป็นปัญหาใหญ่ในการเขียนเช่นกัน เรียนเท่าไรก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้แบบ effective จึงอยากลองชวนมาเรียนแกรมม่าร์รูปแบบใหม่ ที่จะทำให้เราสามารถจำโครงสร้างไปได้ตลอดกาลด้วยการเรียน Tenses แบบ 3 Tenses x 2 Aspects กับอาจารย์โจกันค่ะ ซึ่งด้วยเทคนิคนี้จะทำให้สามารถจำเรื่อง Tenses ได้แบบ Timeline
และที่สำคัญคือสามารถนำมาใช้เขียนได้จริงค่ะ เพราะเราจะได้ลองหัดแต่งประโยคกันด้วย มาลองดูกันนะคะ แล้วนำความรู้ที่ได้จากคลิปนี้ไปหัดเขียนเรียงความ โดยคำนึงถึงความถูกต้องเรื่อง Tenses ไปด้วยค่ะ
Articles ใครคิดว่าไม่สำคัญ…จริงๆ แอบสำคัญเหมือนกันนะคะ เพราะเด็กไทยชอบลืมใส่ a, an, the ทั้งที่เรียนกันมาตั้งแต่เท้าเท่าฝาหอยและก็เป็นเรื่องจริงผ่านจอที่เห็นทุกครั้งยามตรวจ Essay
มาถึงตอนนี้อาจจะคิดว่ากะแค่คำคำเดียวมันสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ คำตอบคือ…สำคัญมากในระดับหนึ่งเลยค่ะ เพราะ Article คือการบอกจำนวนว่าเป็นเอกพจน์ หรือบอกสิ่งที่เฉพาะเจาะจงนั่นเอง และมันก็จะไปเอื้อกับเรื่องของ Subject-Verb Agreement ค่ะ คือการใช้กริยาให้ถูกต้อง ดังนั้น จึงอยากฝากให้ดูอีกเรื่อง
อย่าลืมว่า A, An ใช้นำหน้า N. เอกพจน์ หรือ N. ที่เพิ่งกล่าวถึงเป็นครั้งแรก ในขณะที่ The ใช้นำหน้า N. ที่มีการพูดถึงไปแล้ว หรือ N. ที่เราต้องการย้ำว่าเฉพาะเจาะจง หรือจะเป็น N. ที่มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น The sun, The moon เป็นต้นนะคะ
และนอกจากนี้อีกเรื่องที่อยากฝากไว้ก็คือ…เวลาเขียน N. พหูพจน์ อย่าลืมใส่ s ตรงท้ายด้วยนะตัวเอง