Article 2
กลเม็ดเคล็ด (เกือบ) ลับสำหรับผู้เข้าสอบ
IELTS Writing Task 1
ตอนนี้ให้คิดว่าเราเป็นจิตรกรค่ะ แต่เป็นจิตรกรที่ใช้ดินสอแทนพู่กันในการวาดภาพระบายสีให้เขาเห็นภาพที่เราเห็น และใช้คำศัพท์มาบรรยายแทนสีที่ระบายให้ภาพสวยงาม สิ่งสำคัญคือเราต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอกับเขา โดยการบอกว่ากราฟนี้เกี่ยวกับอะไร แนวโน้มในกราฟเป็นอย่างไร และจับเฉพาะข้อมูลที่ปรากฏในมารายงานและเปรียบเทียบ เลือกเฉพาะจุดสำคัญ ไม่ต้องรายงานทุกจุดค่ะ
สมมุติว่าเราเจอกราฟเส้น และในกราฟนั้นมีเส้นอยู่ทั้งหมด 5 เส้น มีการบอกข้อมูลในเส้น เส้นละ 6 จุดช่วงเวลา แถมตัวเส้นเองก็ขึ้นๆ ลงๆ ราวกับกราฟของหุ้น ถ้าเราเขียนบรรยายซะทุกจุด ก็คูณไปค่ะ 5 * 6 = 30 เราต้องเขียนรายงานทั้งหมด 30 จุด! โอ้ยตาย แบบนี้ให้เวลามา 4 ชั่วโมงก็ไม่ทันค่ะ
ดังนั้น เลือกแต่จุดสำคัญเท่านั้นคือ 1.จุดสูงสุด (Peaks) 2. จุดต่ำสุด (Troughs) และรวมถึงจุดที่ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงพลิกผันอย่างใหญ่หลวง และนำจุดเหล่านี้มาเปรียบเทียบกันค่ะ
เวลา 20 นาที บางคนอาจบอกว่าร่าง 3 นาทีก็พอ รีบเขียนให้ทันอีก 15 นาที แล้วใช้เวลาเช็คอีก 2 นาที ซึ่งจริงๆ แล้วคิดว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากโดยส่วนตัวแล้วมองว่าการร่างสำคัญมาก และเป็นการชี้ชะตา essay เราเลยว่าจะตอบคำถามครบมั้ย ตอบถูกมั้ย ข้อมูลที่สำคัญครบถ้วนมั้ย
ดังนั้น ถ้าเราร่างดีๆ และมีสติตอนร่าง ไม่ลน เราอาจจะตัดขั้นตอนการเช็ค essay ไปได้เลย เพราะ 2 นาทีทำอะไรไม่ได้มากอยู่แล้ว ถอนหายใจสามปึ้ดก็หมด อีกทั้งสมมติว่าเจอจุดผิดแล้วอยากแก้ พอแก้ไปแก้มา เวลาก็หมดค่ะ แก้ไม่ทันค่ะ
ดังนั้นเปลี่ยนเป็นร่างสัก 5 นาที แล้วเขียนอีก 15 นาทีจะดีกว่า เปรียบได้กับเวลาที่เราแต่งหน้า แล้วลงรองพื้นดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง ดีกว่าลงรองพื้นไม่ครบหน้า ต้องมากลบใหม่ เสียเวลากว่าเดิมอีก ถูกมั้ยเอ่ย
อันดับแรกสุด สิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Task 2 ซึ่งเป็นการเขียนเรียงความในประเด็นต่างๆ คือการใส่ความคิดเห็นค่ะ ในส่วนของ Task 1 เราต้องพูดถึงเฉพาะสิ่งที่ปรากฏอยู่รูปภาพเท่านั้น ห้ามใส่ความคิดเห็นตัวเองลงไปเป็นอันขาด คำจำพวก in my opinion, I personally think, some may say that อะไรแบบนี้ให้เก็บเข้ากรุไว้เลย แล้วล็อคไว้เอาไว้พอทำ Task 2 เมื่อไหร่ค่อยเอากุญแจไปไขออกมาใช้นะคะ
ซึ่งในการเขียนบรรยายกราฟอะไรแบบนี้ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีสรรพนามที่ใช้แทนบุคคลเลย เช่น I you we they he she เลย แต่คำว่า it ยังโผล่มาบ่อยอยู่ เนื่องจากเป็นการพูดถึงของทั่วๆ ไปนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว เราควรเขียนเฉพาะข้อมูลที่ปรากฏ และสรุปได้จากสิ่งที่เห็นเท่านั้น สมมุติว่ากราฟกำหนดให้ข้อมูลมาเท่าไหน เราก็เขียนเท่าที่เขาบรรยายมาให้เท่านั้น อย่าเขียนเกินและอย่าคาดการณ์ล่วงหน้า สิ่งที่อยากให้ระลึกไว้ก็คือว่าเราจะเขียนกราฟนี้อย่างไรบรรยายอย่างไรให้คนที่ไม่ได้เห็นกราฟนี้สามารถเห็นภาพในหัวได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้าเราเขียนข้อมูลเกินลงไปเนี่ยจะเป็นการยัดเยียดข้อมูลให้กับเขา ซึ่งกรรมการถือว่าผิด ทีนี้ก็มาลองดูตัวอย่างก่อนนะคะ
เช่น กราฟเรื่องจำนวนเด็กกินอาหารเสริม ตัวกราฟเริ่มตั้งแต่ปี 1990 สิ้นสุดที่ปี 2010 โดยมีอัตราเพิ่มสูงมาก เราก็บอกแค่ว่าจุดสุดท้าย ปี 2010 จำนวนเด็กกินอาหารเสริมอยู่ที่ __% ก็ว่ากันไป และจุดสิ้นสุดอยู่ที่___% ก็ว่าไป แต่! ห้ามเขียนต่อว่า “มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 5 ปีให้หลัง ซึ่งในปี 2015 ตอนนี้ ก็ยังขึ้นอยู่” แบบนี้กรรมการไม่โอเคค่ะ เพราะแบบนี้ใครมาอ่านก็คงคิดว่าสิ้นสุดอยู่ที่ปี 2015 ทั้งที่จริงๆแล้วน่ะมันสิ้นสุดอยู่ที่ปี 2010 เท่านั้นเอง 🙂