Article 24
Criteria แม่น ปูทางสู่ IELTS Speaking 6.5+
- เคยไหมกับการสั่นเมื่อต้องพรีเซ้นต์หน้าห้อง โตขึ้นก็ไม่หาย แถมต้องมาสอบพูด IELTS อีก สั่นกว่าเดิมเข้าไปอีก
- เคยไหม กับการกังวลสำเนียงจนสุดท้ายก็ได้แต่อ้ำๆ อึ้งๆ พูดไม่ออก
- เคยไหม เจอฝรั่งปุ๊บ สมองก็เหมือนกดสวิตช์ชัตดาวน์ปั๊บ
นึกถึงกี่ครั้ง ก็ยังขมขื่น แต่มาถึงจุดนี้ อาจารย์ก็อยากให้ทิ้งความขมขื่นที่เคยมีกับการพูดภาษาอังกฤษไปให้หมดค่ะ เพราะหลังจากที่ได้อ่านบล็อกซึ่งรวบรวม เทคนิคการสอบ Speaking ในข้อสอบ IELTS ของ ENG ME UP แล้ว อาจารย์เชื่อว่าทุกคนก็พร้อมที่จะพูดและมีความมั่นใจที่จะสอบ Speaking ได้มากขึ้นแน่นอนค่ะ
ก่อนหน้าจะเข้าสู่ช่วงของลูกเล่น และเทคนิคแพรวพราวสำหรับการสอบ Speaking เรามาดูเรื่องทั่วไปในข้อสอบส่วน Speaking กันก่อนดีกว่า การพูดของ IELTS นั้นเรียกได้ว่าเป็นส่วนที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในบรรดาข้อสอบทั้ง 4 parts คิดเป็นเวลารวมกันก็แค่ 10 กว่านาทีเท่านั้นเอง แต่…อย่าคิดว่าสั้นแล้วจะหมู เพราะเวลาสั้นๆ นี่ละค่ะ เปรียบดั่งสนามวิ่งแข่งที่จะทำให้หัวใจเราเต้นตึกตักตอนก่อนสอบ บางคนตื่นเต้นจนลืมสติไว้นอกห้องสอบเลยก็มี คะแนนออกมาเลยตามเนื้อผ้า
ดังนั้นนะคะ สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้แต่แรกและฝากไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มอ่านบล็อกนี้เลยก็คือสติ เพราะถ้าเราไม่พกสติเข้าห้องสอบ เราได้เสียสตางค์ค่าสอบอีกรอบแน่ๆ เลย
สิ่งที่ยากในการฝึก Speaking ก็คือเวลาและชั่วโมงบินค่ะ คนส่วนใหญ่มักพ่ายแพ้แก่ความคิดที่ว่าต้องเป็นคนที่อยู่เมืองนอกมาก่อนถึงจะพูดได้ เป็นคนที่ได้เจอฝรั่งบ่อยๆ ถึงจะพูดได้ แต่เราไม่ได้ไปอยู่เมืองนอก สปีกอิงลิชมาตั้งแต่เด็ก จะเอาอะไรไปพูดในห้องสอบดี
จริงอยู่ที่ว่าทักษะการพูดมันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการฝึก แต่อยากให้คิดเช่นกันว่าในเมื่อต้องอาศัยการฝึกแล้ว หากเราเริ่มตั้งแต่วันนี้ ก็ย่อมไม่เสียเวลาและดีต่อตัวเองด้วย ซึ่งจริงๆแล้ว อยากแอบกระซิบว่าพาร์ตการพูดนี่แหละที่จะช่วยดึงคะแนนของเราให้ขึ้นมาค่ะ (คิดซะว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าให้มานั่งเขียนนะ ใช่มะ เชื่อว่าทุกคนเป็นไม้เบื่อไม้เมากับการสอบเขียนมากๆ) และในส่วนข้อสอบเอง จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาอธิบายกันค่ะ แต่ตอนนี้…เรามาดูกันก่อนว่าเขาวัดอะไรเรามั่ง
Fluency and coherence
คือความคล่องและความเชื่อมกันของเนื้อหาที่เราพูดนั่นเอง ถ้าพูดตะกุกตะกัก พูดเร็วเกินไปจนกรรมการฟังไม่ทัน เราก็อาจจะเสียคะแนนจุดนี้ไปก็ได้
Lexical resource
คือคำศัพท์นั่นเองค่ะ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าการสอบอะไร คำศัพท์ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ แต่สำหรับคำศัพท์ในส่วน Speaking จะง่ายกว่า และก็เป็นคำศัพท์ที่เราพบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่ถึงจะเป็นศัพท์ง่ายก็จริง ก็ควรมีคลังคำศัพท์ในหัวและในตอนพูดก็ควรใช้คำให้หลากหลายนะคะ เพราะถ้าพูดซ้ำแต่คำเดิมๆ รับรองว่าคะแนนส่วนนี้จะน้อยลงแน่นอนค่ะ
ก็คือความหลากหลายและความถูกต้องของไวยากรณ์ ซึ่งเขาก็ไม่ได้วัดโครงสร้างแอดวานซ์อะไรมากมาย โดยแกรมมาร์ที่เอามาวัดจริงๆ แล้วมีไม่กี่เรื่องเท่านั้นค่ะ ยกตัวอย่างเช่น พูด tense ให้ถูกต้องตามเรื่องที่เล่า Subject-Verb Agreement ก็ใช้ให้ถูกต้องค่ะ
เขาวัดในเรื่องสำเนียงค่ะ ดังนั้นเราจึงควรฝึกเรื่องสำเนียงไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องเป๊ะเหมือนฝรั่งมาเอง แต่ขอให้พูดชัด พูดช้า มีการ stress เสียงที่ถูกต้อง และฟังเข้าใจได้ก็พอแล้วค่ะ
เมื่อเห็นว่าวัดในหลายๆ ด้านแบบนี้ หลายคนอาจจะเริ่มท้อ แต่ในพจนานุกรมชีวิตของเราห้ามมีคำว่าท้อเด็ดขาดน้า เหนื่อยได้ พักได้ แต่ก็อย่าลืมเตรียมตัวให้ดีนะคะ เพราะถ้าเราเตรียมตัวดี ก็จะมีชัยไปกว่าครึ่ง งั้นมาดูกันว่าก่อนเข้าห้องเย็น เอ้ย ห้องสอบ เราจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้างด้วยสามกุญแจที่จะไขหีบคะแนนของเราค่ะ