Article 22
คือทักษะการจัดการตัวเองนั่นเอง ในการทำข้อสอบ เราก็ควรมีการจัดการที่ดีเพื่อให้ทำข้อสอบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งทักษะการจัดการตัวเองในห้องสอบนี้มีทั้งหมดสามขั้นตอนด้วยกัน
เริ่มจาก…
1. การอ่านคำถามโดยดูหัวเพื่อดูว่าเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับอะไร และเค้าต้องการคำตอบแบบไหน Part of speech ใด
2. ตอนที่ได้ยินบทสนทนา ให้เราเทคโน้ตหัวข้อย่อยๆ ที่เราได้ยิน เพื่อ locate ให้ได้ว่าตอนนี้เราอยู่ที่คำถามเท่าไหร่
3. สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือ ต้องตอบให้ครบทุกคำถามหลังจากที่บทสนทนาจบ และใช้เวลาว่างระหว่างข้อเพื่อดูคำถามในชุดถัดไปว่าเกี่ยวข้องกับอะไรค่ะ
อย่างเช่น ถ้าเจอคำถามที่เป็นรูป แผนที่ ก็ให้โฟกัสกับสิ่งที่เขาถาม และดูสิ่งที่อยู่รอบๆ คำถามว่าเป็นอะไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าให้ภาพการติดตั้งสวนลอยฟ้า แล้วมีสายไฟ 2 เส้น และสายไฟสองเส้นนั้นเป็นข้อที่แตกต่างกัน เวลาเราได้ยินคำว่า wire หรือ cable ก็โฟกัสไปที่สาย 2 สายนี้เลย เนื่องจากว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน ทีนี้จะเส้นไหนก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดแล้วละ
4. และท้ายสุดแล้ว ในตอนที่ลอกคำตอบลงกระดาษคำตอบนั้น ให้ลอกพร้อมกับตรวจทานไปด้วยค่ะ อย่าลอกเฉยๆ แต่ให้ดูด้วยว่าสิ่งที่เราตอบถูกต้องหรือไม่ เป็นพหูพจน์ เป็นเอกพจน์ถูกต้องกับสิ่งที่ได้ยินหรือไม่ และเป็นคำนามหรือเป็นคำกริยาตามที่คำถามต้องการหรือไม่ จำไว้ว่า…ลอกอย่างมีสติค่ะ 🙂
Prediction หมายถึงการคาดคะเนคำตอบค่ะ ต่างจากการเดาคำตอบ (Guessing) นะคะ เพราะการคาดคะเนนี้ หมายความว่าให้เราจับข้อมูลจากคำถามที่มีปรากฏอยู่แล้วในกระดาษคำถามเพื่อมาเดาว่าเขาต้องการคำตอบอย่างไร แต่ถ้าเดาคำตอบหมายความว่าเราไม่รู้คำตอบค่ะ แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าเขาถามอะไร อย่างนั้นเนี่ย การเดาคือการมั่วนั่นเอง #ร้องไห้หนักมาก
ไหนตอนแรกอาจารย์นุ้ยบอกให้เดา ใช่ค่ะ แต่ทั้งนี้อยากให้เดาอย่างมีหลักการนะ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติที่เราจะฟังไม่ออกทุกข้อ แต่ทั้งนี้ก็อยากบอกว่าอยากให้ใช้การคาดคะเน และฝึกการคาดคะเนให้เป็นนิสัยจนติดเข้าไปใช้ในห้องสอบจะดีกว่า เนื่องจากว่าอย่างน้อยเนี่ยจะเปอร์เซ็นต์ที่จะได้คำตอบที่ถูกต้องมีมากกว่าการเดาเฉยๆ และในตอนนี้ อาจารย์นุ้ยก็อยากบอกเทคนิคในการเดาค่ะ
เราต้องเริ่มจากการดูคำถามก่อนฟังเสมอค่ะ ซึ่งเราจะสามารถทำได้ในตอนที่เขาหยุดอ่านเป็นเวลา 30 ถึง 45 วินาทีในระหว่างที่เปลี่ยน section นั่นเอง ซึ่งนอกจากจะดูแล้ว ก็ต้องวงกลมไว้ด้วยนะคะ โดยต้องวงดังต่อไปนี้
1. คีย์เวิร์ดที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น London, 1991, Mary เป็นต้น
2. ด้านหน้าช่องว่าง ดูว่าเขาถามเกี่ยวกับอะไร เช่น
Address: ___________Road
แค่เราเห็นก็พอเดาได้แล้วว่าตำแหน่งที่ว่างไปตรงนี้ต้องเป็นชื่อเฉพาะ และเป็นชื่อถนนนั่นเองค่ะ ไม่ยากเลย ฝึกให้คล่องเลยนะจ๊ะ
การฟังก็บอกอยู่แล้วนะคะเป็นการฟัง และการฟังก็เกิดขึ้นจากการมีสมาธิมีใจจดจ่อค่ะ ซึ่งเมื่อไรก็ตาม ถ้าเราไม่มีสมาธิจดจ่อกับข้อสอบฟัง สิ่งที่เข้าหูเราก็จะกลายเป็นเข้าหูซ้ายทะลุหูขวากลายเป็นการได้ยิน (hearing) ทันทีค่ะ
โศกนาฏกรรมที่มักจะเกิดขึ้นกับนักเรียนเสมอคือฟังๆ อยู่แล้วหลุด ฟังๆ อยู่แล้วหลุด ฟังไปฟังมา ฟังไม่รู้เรื่อง พังมาก ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นเรื่องปกติที่ไม่ค่อยอยากให้เกิดขึ้นเลย ดังนั้นเราควรป้องกันการหลุดไว้ก่อน
อันดับแรกสุดนะคะ คืออย่ารู้สึกสบายๆ ระลึกไว้เสมอว่าตอนนี้เราอยู่ในสนามวิ่งแข่ง ดังนั้น หน้าที่ของเราคือต้องวิ่งอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะช่วยก็คือเอาปากกาจิ้มข้อสอบไว้เสมอ ดูว่าสิ่งที่เราฟังอยู่เนี่ยมันอยู่ส่วนไหนแล้ว สมมุติว่าเป็นข้อสอบประเภท Flowchart บางทีบางขั้นตอนเนี่ย มันก็ไม่ได้มีช่องว่างที่ถามหาคำตอบค่ะ แต่ก็ใช่ว่าพอเราจะไม่ฟังก็ได้ ระลึกไว้ว่าอย่างไร เราก็ต้องฟังเสมอค่ะ ฟังเพื่อให้รู้ว่าอย่างน้อยคำตอบมันกำลังจะมาแล้วนะคะ ถึงจะเป็นช่วงที่ไม่มีคำตอบก็ตาม
แต่ถ้าหลุด… ทำไงดี
ทำใจค่ะ:)
อันดับแรกต้องรีบทำใจเลยว่าสิ่งที่หลุดไปแล้วไม่สามารถกลับมาได้ รีบตั้งสตินะคะ ไม่ว่าจะหลุดไปกี่ข้อก็ตาม แล้วโฟกัสให้เร็วที่สุดว่าตอนนี้เราอยู่ที่คำถามข้อไหนแล้ว ได้ยิน keyword อะไร เขียนไว้ก่อน แล้วให้ฟังต่อไป แอบอยากบอกนิดนึงว่าบางครั้ง ถึงแม้ว่าเราจะพลาดไปสักข้อ 2 ข้อแต่บางทีมันก็กลับมาพูดเรื่องเดิมอีกครั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้พูดเรื่องเดิมเป๊ะๆเลยก็จริง แต่ข้อมูลที่ได้ยินทีหลังก็อาจจะมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อที่พูดไปแล้ว และทำให้เราเดาคำตอบได้อย่างมีทิศทางค่ะ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามตั้งสติแล้ววางถุงกาวไว้ก่อนจะเป็นการดีที่สุด ก่อนสอบพยายามนอนเยอะๆ นะขอเลย จะได้ไม่ต้องเข้าไปเบลอในห้องสอบค่ะ 😀