Article 21
เตรียมหูให้พร้อม ก่อนรับเทคนิคขั้นเทพ
พิชิตข้อสอบ IELTS Listening
อีกสิ่งที่ยากในการฟังคือสิ่งที่เขาถามเราในกระดาษคำถาม กับสิ่งที่เราได้ยินจะเป็นเพียง synonym กันหรือเป็นคำเหมือนกันเท่านั้น นั่นคือความหมายเดียวกัน แต่ใช้คำพูดไม่เหมือนกัน เช่น
To control body heat กับ for temperature regulation
หน้าตาไม่ได้มีความเหมือนกันเลย แต่ถ้าแปลๆ ดู อันแรกคือ เพื่อควบคุมความร้อนของร่างกาย กับตัวที่สองคือ สำหรับการควบคุมอุณหภูมิ จะเห็นได้ว่าความหมายเกือบจะเท่ากันเป็น 100%
ดังนั้น การรู้คำศัพท์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นแน่นอน หากเราเตรียมคำศัพท์ไว้เพื่อสอบเขียนและสอบอ่านแล้ว อาจารย์นุ้ยคิดว่าทุกคนย่อมมีคำศัพท์ที่เพียงพอต่อการสอบฟังแน่นอนค่ะ เพราะคำศัพท์ก็หนีไม่พ้นกันนั่นแหละ และคำศัพท์ใน Listening Part จะง่ายกว่าเล็กน้อยด้วย (ยกเว้นใน Section4 นะคะที่อาจจะยากขึ้นมาหน่อย) อยากให้ไปเน้นเรื่องของ Verbal Expressions และ Transition Signals มากๆ ด้วยค่ะ เพื่อให้จับทิศทางและสามารถฟังทัน
ต่อมาสิ่งที่อยากให้เราระวังไว้คือเรื่องของสำเนียง แม้ว่าการสอบจะเป็นการสอบที่กำหนดโดยประเทศอังกฤษ แต่สำเนียงที่เราจะได้พบเนี่ยก็มีหลากหลายเลย โดยส่วนใหญ่จะเป็นสำเนียงอังกฤษและสำเนียงออสเตรเลีย สำเนียงอเมริกันก็มีบ้างค่ะ แต่จะไม่ถี่เท่าสองสำเนียงนี้บริติชนี่ถี่สุดเลย
พูดถึงเรื่องของสำเนียงบริติช เวลาสอนในห้อง อาจารย์มักจะยกตัวอย่างให้นักเรียนฟังค่ะว่าสำเนียงนี้เป็นสำเนียงผู้ดี จะพูดงึมงำๆ ในคอ ไม่เล่นใหญ่ปากกว้างดังเช่นสำเนียงอเมริกัน แถมยังมีการกร่อนเสียงอีกแน่ะ เช่น
Cotton
อ้อ อ่านว่าคอตตอนไง ง่ายจัง
แต่! สำเนียงบริติชจะอ่านว่า “เคอะอึ่น” ค่ะ ไม่ออกเสียง tt นั่นเอง ดังนั้น ถ้าใครดู Harry Potter แล้วฟังแฮกริดพูดชื่อแฮร์รี่ ก็อาจจะได้ยินเขาพูดว่า ฮาหริ โพะเออะ ซึ่งก็ไม่ต้องแปลกใจค่ะ คือคนเดียวกับ “แฮรี่ พอดเต้อ” ของคนไทยนั่นละ
ซึ่งถ้าเป็นข้อสอบ Section 1 ชื่อเฉพาะ มากร่อนเสียงอะไรแบบนี้ เกิดสะกดผิดเข้าไปจะทำยังไง อยากบอกว่าไม่ต้องห่วงค่า เพราะเขาจะทวนตัวสะกดให้แน่นอน เช่น
A : What’s your surname?
B : Beeton(แต่ออกเสียงว่า บี๊อึ่น)
A : Could you spell it, please?
B : Sure. B – double E – T – O –N
คราวนี้ถือปากกาให้มั่นแล้วรีบเขียนตามเลยนะ ซึ่งถ้าเป็นตัวซ้ำกันสองตัวอย่าง ee เขาจะพูดว่า double E ค่ะ
ดังนั้นการฝึกฟังสำเนียงต่างๆล่วงหน้าจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็อยากให้ไต่จากง่ายไปหายาก อาจจะเริ่มจากดูซีรี่ส์ฝรั่งค่ะ อันนี้ของแน่นอน เลือกเลยว่าอยากได้แบบไหน
ซึ่งสำหรับอาจารย์นุ้ยเองแล้ว หากอยากฝึกฟังสำเนียงบริติช ก็มักจะแนะนำเรื่อง Game of Thrones ค่ะ คำศัพท์ที่ใช้จะโบราณหน่อยเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคกลาง มีอัศวินและชนชั้นปกครองต่างๆ มาแย่งบัลลังค์กัน แต่รับประกันว่าสำเนียงบริติชมาเต็มแน่นอน (สนุกมากด้วย ติดงอมแงมเลยค่ะ)
หรือถ้าชอบแบบพีเรียด อารมณ์ไฮโซยุคเกือบร้อยปีก่อน ก็อยากแนะนำเรื่อง Downton Abbey อันนี้จะไม่รบราฆ่าฟันแบบเรื่องก่อนหน้า แต่จะเป็นเรื่องในคฤหาสน์ของเจ้านายและบ่าวไพร่ ลองไปติดตามกันดูนะคะ ฟังสำเนียงให้คุ้นหูค่ะ
เมื่อปีกกล้าขาแข็ง (รวมถึงสนุกสนาน) จากซีรีส์มาแล้ว ก็อยากแนะให้มาฟังอะไรเพื่อการศึกษาและการสอบของเราต่อค่ะ ซึ่งเป็นโชคดีของเรานักที่ทุกวันนี้มีเว็บไซต์สำหรับฝึกฟังเต็มไปหมด โดยที่ตัวซึ่งอยากแนะนำเป็นพิเศษมีดังต่อไปนี้ค่ะ
สองเว็บไซต์แรกเป็นเว็บไซต์สำหรับฝึกฟังเพื่อการสอบจริงๆ ค่ะ ส่วนเว็บไซต์สุดท้ายอย่าง Ted เป็นเว็บไซต์รวบรวม talks ให้ผู้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆมาพูดสุนทรพจน์ที่น่าสนใจซึ่งจะทำให้เราคุ้นเคยกับศัพท์ที่ใช้จะปรากฏอยู่ในส่วนที่ 4 ขึ้นเนื่องจากเป็นการพูดเรื่องราวเฉพาะในศาสตร์ต่างๆ และด้วยความที่รวบรวมคนพูดมาจากทั่วโลกแล้ว เราก็จะได้ฟังสำเนียงที่แตกต่างกันออกไปด้วยค่ะ
**ข้อแนะนำพิเศษ** ช่วงก่อนสอบสักสามสี่วัน ฟังกรอกหูไปนะคะ ไม่ต้องจับใจความก็ได้ แต่ขอให้ฟังเป็นชั่วโมง ฟังให้ลงไปในจิตใต้สำนึก (ฟังดูหลอนมาก ฮา) เพราะเวลาไปสอบจริงแล้ว หูเราจะชินกับสิ่งที่ได้ยินมาก่อนหน้านี้ และทำให้ไม่ตกใจเวลาฟังค่ะ